ประวัติ ของ มัคส์ เวเบอร์

เวเบอร์เกิดที่แอร์ฟวร์ท ราชอาณาจักรปรัสเซีย เขาเป็นลูกชายคนโตในครอบครัวที่มีบุตรเจ็ดคนของมัคส์ เวเบอร์ (ผู้พ่อ) นักการเมืองและข้าราชการท้องถิ่นคนสำคัญ และเฮ็ลเลเนอ ฟัลเลินชไตน์ น้องชายของเขาอัลเฟรท เวเบอร์ ก็เป็นนักสังคมวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกัน การที่พ่อของเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณะมากมาย ทำให้เวเบอร์เติบโตขึ้นในครอบครัวที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของการเมือง นอกจากนี้ครอบครัวของเขาเองยังได้ต้อนรับนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและบุคคลสาธารณะมากมาย เวเบอร์เองก็ยังได้แสดงความโดดเด่นและสนใจในด้านวิชาการ ของขวัญวันคริสต์มาสที่เขามอบให้กับผู้ปกครอง เมื่อเขายังมีอายุ 13 ปี คือ ความเรียงแนวประวัติศาสตร์ชื่อว่า "ทิศทางของประวัติศาสตร์เยอรมัน พร้อมกับการอ้างอิงพิเศษถึงจุดยืนของจักรพรรติและสันตะปาปา" และ "อาณาจักรโรมัน ตั้งแต่ช่วงของคอนสแตนตินที่หนึ่ง จนถึงช่วงของการอพยพของประเทศ" ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเวเบอร์จะเข้าศึกษาในด้านสังคมวิทยา

มัคส์ เวเบอร์ และน้องชาย (อัลเฟรทและคาร์ล) ในปี ค.ศ. 1879

เมื่ออายุได้สิบสี่ปี เขาเขียนจดหมายที่อ้างอิงถึงโฮเมอร์, เวอร์จิล, กิแกโร และลิวี นอกจากนี้เขายังมีความรู้เกี่ยวกับเกอเทอ, บารุค สปิโนซา, อิมมานูเอิล คานท์ และอาร์ทัวร์ โชเพินเฮาเออร์ ก่อนที่เขาจะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

ในปี ค.ศ. 1882 เขาเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์คในสาขากฎหมาย เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มดวลมีด และเรียนในสาขากฎหมายเช่นเดียวกับพ่อของเขา นอกจากการเรียนในด้านกฎหมายแล้ว เวเบอร์ยังได้เข้าฟังการบรรยายในวิชาเศรษฐศาสตร์ และศึกษาประวัติศาสตร์ยุคกลาง เขายังได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนวิทยาเป็นจำนวนมาก เขายังได้เข้ารับราชการเป็นทหารเป็นระยะ ๆ ที่สทราซบูร์ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1884 เวเบอร์ย้ายกลับบ้านและเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ตลอดช่วงเวลา 8 ปีหลังจากนั้น ยกเว้นแค่ในบางช่วง เวเบอร์ได้พักอาศัยอยู่กับบิดามารดา ตั้งแต่ดำรงฐานะเป็นนักเรียน เป็นทนายในศาล และเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ในปี ค.ศ. 1886 เวเบอร์ได้สอบเนติบัญญัติผ่าน ในช่วงท้ายคริสต์ทศวรรษ 1880 เวเบอร์ยังคงหมั่นศึกษาด้านประวัติศาสตร์ และได้รับปริญญาเอกในสาขากฎหมายในปี ค.ศ. 1889 ด้วยวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของระบบยุติธรรมชื่อว่า ประวัติศาสตร์องค์กรธุรกิจยุคกลาง สองปีถัดจากนั้นเขาได้เขียนผลงาน ประวัติศาสตร์การเกษตรแบบโรมันและความสำคัญต่อกฎหมายบุคคลและกฎหมายมหาชน ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ระดับสูงกว่าปริญญาเอก ที่จำเป็นสำหรับการเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

ในระหว่างที่เขาทำผลงานวิทยานิพนธ์ระดับสูงกว่าปริญญาเอก เขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับนโยบายทางสังคม ในปี ค.ศ. 1888 เขาได้เข้าร่วมกลุ่ม [Verein für Socialpolitik] ข้อผิดพลาด: {{Lang}}: ข้อความมีมาร์กอัปตัวเอียง (ช่วยเหลือ) ซึ่งเป็นกลุ่มของนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันผู้อยู่ในสายประวัติศาสตร์ ที่เชื่อว่าหน้าที่ของเศรษฐศาสตร์คือการแก้ปัญหาทางสังคมต่าง ๆ ของยุคสมัย และได้ริเริ่มการศึกษาทางสถิติของปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ในระดับมหภาค. ในปี ค.ศ. 1890 กลุ่มดังกล่าวได้เริ่มโครงการวิจัยเพื่อศึกษา "ปัญหาชาวโปแลนด์" ซึ่งหมายถึงปัญหาของการทะลักล้นเข้ามาของคนงานในสวนจากต่างประเทศ เมื่อคนงานภายในประเทศต่างย้ายเข้ามาในเมืองในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เวเบอร์ได้รับดูแลโครงการนี้ และเป็นผู้เขียนหลักของรายงานผลที่ได้ รายงานดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของการทำวิจัยเชิงประจักษ์ และยืนยันตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตรของเวเบอร์

มัคส์ เวเบอร์ และมารีอันเนอ ภรรยา ในปี ค.ศ. 1894

ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1890 จัดว่าเป็นช่วงที่เวเบอร์ประสบผลสำเร็จในอาชีพการงาน ในปี ค.ศ. 1893 เขาแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องห่าง ๆ มารีอันเนอ ชนิทเกอร์ ผู้ที่เป็นปัญญาชนและนักนิยมสิทธิสตรีที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วในฐานะที่เป็นนักเขียน ปีถัดมาเขาเข้ารับตำแหน่งในช่วงสั้น ๆ เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไฟรบวร์ค จากนั้นก็ย้ายไปรับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค ในปี ค.ศ. 1896 แต่เนื่องจากอาการป่วย เขาจำต้องลดและถึงขั้นต้องหยุดงานวิชาการลงในปีถัดมา และต้องรักษาตัวอยู่จนถึงปี ค.ศ. 1901 อาการป่วยดังกล่าวเชื่อกันว่าเป็นอาการเจ็บป่วยจิตใจ เนื่องมาจากการเสียชีวิตของบิดาซึ่งเขาเพิ่งจะได้มีปากเสียงก่อนหน้านั้น และยังไม่ทันได้มีโอกาสจะพูดคุยปรับความเข้าใจ

ในปี ค.ศ. 1903 เขาได้รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการของวารสารวิชาการ [Archives for Social Science and Social Welfare] ข้อผิดพลาด: {{Lang}}: ข้อความมีมาร์กอัปตัวเอียง (ช่วยเหลือ) อย่างไรก็ตามเขารู้สึกว่ายังไม่พร้อมที่จะกลับไปสอนอีกครั้ง และคงทำงานเป็นเพียงนักวิชาการอิสระโดยใช้ทุนจากมรดกที่ได้รับมา ในปี ค.ศ. 1904 เขาได้เดินทางไปที่สหรัฐ และเข้าร่วมการประชุมใหญ่ด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่จัดขึ้นร่วมกับงานแสดงสินค้านานาชาติที่เซนต์หลุยส์ ในปี ค.ศ. 1905 เขาได้ตีพิมพ์ความเรียง จริยธรรมโปรเตสแตนต์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม งานชิ้นนี้กลายเป็นงานที่โด่งดังที่สุดของเขา และเป็นงานที่วางรากฐานให้กับงานวิจัยถัด ๆ ไปของเขาที่เกี่ยวข้องกับผลของวัฒนธรรมและศาสนากับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ

มัคส์ เวเบอร์ ในปี ค.ศ. 1917

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เวเบอร์รับทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลของทหารที่ไฮเดิลแบร์ค ในปี ค.ศ. 1918 เวเบอร์เป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการสงบศึกของฝ่ายเยอรมันในการทำสนธิสัญญาแวร์ซาย และเป็นคณะกรรมการที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ เวเบอร์เองไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติเยอรมันเป็นอย่างยิ่ง เขาจึงพยายามให้มีการเพิ่มมาตราที่ 48 ซึ่งในเวลาถัดมาอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ใช้มาตรานี้ในการประกาศกฎอัยการศึกและเข้ายึดอำนาจได้ในที่สุด

จากปี ค.ศ. 1918 เวเบอร์ได้กลับมาสอน เริ่มที่มหาวิทยาลัยเวียนนา ต่อมาในปี ค.ศ. 1919 ที่มหาวิทยาลัยมิวนิก ที่มิวนิกนี่เองที่เขาได้เป็นหัวหน้าสถาบันด้านสังคมวิทยาแห่งแรกในมหาวิทยาลัยเยอรมัน อย่างไรก็ตามเขาไม่เคยได้รับตำแหน่งด้านสังคมวิทยาโดยตรงเลย

เวเบอร์เสียชีวิตจากโรคปอดบวมที่มิวนิกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1920 งานหลายชิ้นของเขาได้ถูกรวบรวม เรียบเรียง และจัดพิมพ์หลังจากที่เขาได้เสียชีวิตแล้ว ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการตีความผลงานของเวเบอร์นั้นรวมไปถึงนักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียง เช่น ทาลคอตต์ พาร์สันส์, ซี. ไรต์ มิลส์